วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ถ่ายทอด โดย
สร้อยสน ปานอนันต์
ความเป็นมา
                          จากการที่รัฐบาลปัจจุบันมีความตั้งใจที่จะทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ โดยถ้วนหน้า และได้ริเริ่มนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรคขึ้น โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนทุกคน สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ตามความจำเป็น
                         นโยบายสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องใหม่ จึงจำเป็นที่จะต้องสื่อสาร ทำความเข้าใจ ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการอย่างชัดเจน และต่อเนื่อง โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีช่องทาง ในการสอบถามปัญหาข้อข้องใจและข้อร้องเรียน ซึ่งจะช่วยบรรเทาความทุกข์ร้อน วิตกกังวลของผู้รับบริการ และยังเป็นช่องทางให้ผู้ให้บริการได้รับทราบข้อบกพร่องของการให้บริการ ซึ่งจะสามารถนำมาปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานให้ดีขึ้น สนองตอบความต้องการของผู้รับบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการสร้างเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของหน่วยงานอีกด้วย
                          กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะให้สถานบริการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จัดให้มีหน่วยงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ขึ้น และมีการดำเนินงานเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันได้ทั่วประเทศ สำหรับในส่วนกลาง ได้จัดตั้งหน่วยรับเรื่องราวร้องทุกข์ โดยใช้ชื่อ " ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพ"   
วัตถุประสงค์ 
     1.   เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
     2.   เป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูล ข่าวสาร แนะนำการให้บริการ ให้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหา
     3.     สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อให้
     ผู้รับบริการได้ รับบริการที่มีคุณภาพ และเกิดความพึงพอใจ 
พันธกิจ 
  • คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
  • รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้รับบริการ
  • พัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารเพื่อการพัฒนาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า
  • ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้งเชิงรุกและ   เชิงรับ 
บทบาทหน้าที่              
1.  รับเรื่องร้องทุกข์ ชี้แจงตอบข้อข้องใจ บรรเทาความไม่พึงพอใจของผู้รับบริการ รวมทั้งการติดตามปัญหาให้อยู่ในระยะเวลาที่กำหนด
2.  ตรวจสอบข้อเท็จจริง ทำความเข้าใจ แก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างผู้รับบริการ และผู้ให้บริการ โดยจัดให้มีระบบการตอบกลับ หรือแจ้งความคืบหน้าทุกราย
3.  รับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะจากผู้รับบริการ และประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า 
4.  ประสานงานระหว่างผู้รับบริการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และทัศนคติที่ดีต่อระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า
5.  ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทั้งเชิงรุก และเชิงรับ เพื่อสร้างความเข้าใจของผู้รับบริการ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร
6.      สรุป รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล และนำเสนอต่อคณะกรรมการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแก้ไข และปรับปรุงระบบการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า


          ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรากำหนดให้ บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติ ซึ่งบุคคลในที่นี้ หมายถึง บุคคลที่มีสัญชาติไทย

          ดังนั้น ผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ บุคคลที่มีสัญชาติไทย  มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอื่นใดที่รัฐจัดให้

ตัวอย่างบุคคลที่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลจากรัฐ เช่น

1.    ผู้มีสิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เช่น ลูกจ้างที่ทำงานในกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คน
       ขึ้นไปยกเว้น ลูกจ้างทำงานบ้าน หาบเร่ แผงลอย หรือลูกจ้างของบุคคลธรรมดาที่ไม่มีการ
       ประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย
 2.   ผู้มีสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เช่น ข้าราชการ ลูกจ้างประจำของส่วนราชการ และครอบครัว
3.   ผู้อยู่ในความคุ้มครองของหลักประกันสุขภาพอื่นที่รัฐจัดให้ เช่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ
      พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระ  ครูโรงเรียนเอกชนในระบบ

วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

มะเร็งปากมดลูก

ถ่ายทอดโดย
สร้อยสน ปานอนันต์

สถานีอนามับโคกพนมดีดำเนินการคัดกรองผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกและสามารถคัดกรองผู้ป่วยเพื่อส่งรักษาพยาบาลตามกระบวนการทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง  ในที่นี้ขออนุญาตนำบทความที่เกี่ยวข้องกับโรคดังกล่าวมาเผยแพร่ต่อเพื่อให้ผู้ป่วยตระหนักถึงความสำคัญของการเข้าร่วมโครงการคัดกรองผู้ป่วยข้างต้น

ขอขอบคุณข้อมูลจากนิตยสารหมอชาวบ้านกับเว็บไซต์วิชาการดอทคอมwww.doctor.or.th

          ในปัจจุบัน มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบได้มากเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งในผู้หญิงไทย และ มีปัญหาในด้านการรักษามากทั้งๆ ที่มะเร็งชนิดนี้ สามารถตรวจพบในระยะแรกเริ่มด้วยวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก และสามารถรักษาให้หายขาด….โรคนี้เป็นอย่างไร ขอเชิญอ่านรายละเอียดได้จากบทสนทนากับ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ คือ ศาสตราจารย์แพทย์หญิงวิไล เบญจกาญจน์ หัวหน้าภาควิชาสูตินรีเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์สมเกียรติ ศรีสุพรรณดิฐ แห่งภาควิชาสูตินรีเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี


*ใครบ้างที่อาจเป็นมะเร็งปากมดลูก
         แปลก มากที่โรคนี้มันเกี่ยวข้องกับเศรษฐฐานะ คนยิ่งจนยิ่งมีโอกาสเป็นมากขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือเป็นมะเร็งของคนจน เพราะคนจนส่วนมากจะมีลูกมากแต่งงานเมื่ออายุยังน้อย หรืออาจมีสามีหลายคน         โรคนี้เกี่ยวกับความสำส่อนทางเพศมากที่สุด หญิงที่มีเพศสัมพันธ์บ่อยหรือเปลี่ยนคู่บ่อย จะมีโอกาสเป็นโรคนี้มาก บางคนจึงว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นกามโรคชนิดหนึ่งด้วยคือ ถ้าไม่มีการร่วมเพศ ก็ไม่เป็นมะเร็งปากมดลูก
*ถ้าเช่นนั้น หญิงโสเภณีหรือหญิงบริการก็มีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกมากกว่าผู้หญิงทั่วไปน่ะซิครับ

         ครับ ข้อนี้มีการบันทึกอยู่ในตำราแพทย์อย่างแน่ชัดแล้ว
*แล้วหญิงที่มีลูกมากล่ะ

         ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าหญิงที่มีลูกน้อย
* หญิงสาวที่ยังไม่แต่งงานจะเป็นโรคนี้ได้หรือไม่

         เป็นได้ แต่เป็นอีกชนิดหนึ่งซึ่งพบน้อยและไม่เกี่ยวข้องกับการร่วมเพศปกติ มะเร็งปากมดลูกมี 2 ชนิด ชนิดที่เรารู้จักกันโดยทั่วไปและพบบ่อยที่สุดนั้นเกี่ยวกันกับความสำส่อนทาง เพศมากเป็นชนิดที่เรากำลังพูดคุยกันนี่แหละครับ
* ว่ากันว่า คนอิสลามที่ผู้ชายนิยมขริบปลายอวัยวะเพศตามประเพณีนั้น ผู้หญิงเขาเป็นโรคนี้กันน้อย จริงไหม

         จริง แต่บางคนก็ไม่เชื่อว่าเป็นเพราะการขลิบแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีสาเหตุจากข้อห้ามทางศาสนาเขาที่ห้ามไม่ให้มีการสำส่อนทางเพศ และห้ามมิให้มีการร่วมเพศระหว่างที่ตั้งท้องและหลังคลอด
* ช่วงอายุเท่าไรเป็นมะเร็งชนิดนี้ได้มากที่สุด

         พบบ่อยที่สุดก็ในช่วงอายุ 40-60 ปี คือในระยะใกล้วัยหมดประจำเดือนและระยะหลังวัยหมดประจำเดือนใหม่ๆ อายุ ที่น้อยที่สุดที่พบ ถ้าเป็นชนิดที่ลุกลามมีอาการแล้วคืออายุ 20 ปี ถ้าชนิดระยะแรกเริ่มที่ยังไม่มีอาการก็อายุ 18-19 ปี แต่ก็พบได้ไม่บ่อยนัก


*สาเหตุเกิดจากอะไร
         ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากเรื่องเพศสัมพันธ์ คือมีความสัมพันธ์ทางเพศจักเกินไป หรือมีลูกมาก

* เป็นกรรมพันธุ์หรือเป็นโรคติดต่อหรือไม่
         โรคนี้ยังไม่ยืืนยันว่าเป็นกรรมพันธุ์ และไม่มีการติดต่อไปยังคนอื่น เหมือนโรคติดต่ออื่นๆ
*จะรู้ได้ไงว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก

         ถ้าเป็นระยะแรกเริ่มที่ยังไม่ลุกลามออกไป ที่หมอเรียกว่ามะเร็งระยะแรกเริ่ม (Carcinoma in situ)นั้น คนไข้จะไม่มีอาการอะไรเลยทั้งสิ้น ตรวจพบโดยวิธีตรวจช่องคลอดหามะเร็งระยะแรกเริ่มที่เรียกกันว่า การตรวจแป๊ปสเมียร์ (Pap smear)
         ส่วน อาการแรกๆ ที่ชาวบ้านสังเกตได้เองซึ่งเป็นอาการของระยะลุกลามก็คือ อาการตกขาวหรือการมีเลือดออกทางช่องคลอดหลังร่วมเพศใหม่ๆ หรืมีเลือดออกกกะปริดกะปรอย


*ตกขาวในโรคมะเร็งแยกจากตกขาวปกติอย่างไร
         ตกขาวปกตินั้น ไม่มีอาการออกเล็กน้อย ไม่ถึงกับต้องใช้ผ้าอนามัยและถึงกับเปรอะเปื้อนมักไม่คัน ไม่มีกลิ่นและมีสีขาวใสๆ   แต่ ถ้าตกขาวเป็นสีช้ำเลือดช้ำหนอง มีกลิ่นเหม็นหรือมีอาการแสบขัดปวดก็ถือว่าเป็นตกขาวผิดปกติ อาจเป็นมะเร็งหรือเป็นจากสาเหตุอื่นก็ได้ ควรไปหาหมอ
         มะเร็ง ปากมดลูกเริ่มแรกมีเลือดออกหลังร่วมเพศ หรือมีเลือดออกกะปริดกะปรอย ต่อไปเมื่อเป็นมากขึ้นก็มีอาการอักเสบแทรกซ้อน ทำให้มีตกขาวออกมาเรื่อยๆ ตกขาวเหมือนเป็นหนองสีเหลืองและมีเลือดปน กินยาใช้ยาอะไรก็ไม่ดีขึ้น มีกลิ่นเหม็นจัด จนคนที่อยู่ใกล้ๆ ก็ได้กลิ่นด้วย


* อาการอื่นๆ ของโรคนี้
           ได้แก่ ตกเลือด บางคนไปหาหมอเมื่อมีอาการตกเลือดมากจนเป็นลมช็อคหรือถ้าเป็นในระยะท้ายๆก็ อาจมีอาการปวดที่ท้องน้ำหนักลด ไม่มีแรง บวม หรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ซึ่งเกือบเป็นระยะสุดท้ายแล้ว   จึงอยากย้ำว่า สิ่งใดที่ผิดไปจากที่เราเคยมีอยู่เป็นประจำแล้วละก้อ อย่าได้นิ่งนอนใจ เพราะโรคนี้เป็นระยะแรกๆ ก่อนมีอาการและรีบรักษาก็มีโอกาสหายได้
* จะตรวจรู้ก่อนมีอาการได้อย่างไร

         มีอยู่ทางเดียวคือ หาหมอให้ช่วยตรวจช่องคลอดเพื่อค้นหามะเร็งในระยะแรกเริ่ม ที่เรียกว่า การตรวจแป๊ปสเมียร์
         ได้มีการศึกษากันแล้ว พบว่ามะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรก (คือก่อนมีอาการ) กว่าจะกลายเป็นระยะลุกลามจนมีอาการ แล้วนั้นใช้เวลาถึง 5-15 ปี ไม่ได้ลามปุบปับเหมือนไฟลามทุ่ง คิดๆ ดูแล้วผู้หญิงเรามีเวลา 5-15 ปีสำหรับตรวจโรคนี้และรักษาให้หายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ผู้ป่วยส่วนมากพลาดโอกาสที่มาตรวจและรักษาแต่เนิ่นๆ         ผู้ป่วยส่วนมากจะมาหาหมอเมื่อมีอาการตกขาวและตกเลือดจนนอง ซึ่งเป็นระยะที่ลุกลามแล้ว
* ควรตรวจหามะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรกทุกคนไหม

          อัน ที่จริงผู้หญิงทุกคนควรจะได้รับการตรวจเมื่อมีความสัมพันธ์ทางเพศแล้ว แต่เราจะรณรงค์ให้ผู้หญิงกว่า 10 ล้านคนขึ้น ไปมาตรวจนั้น รัฐคงไม่มีทางที่จะบริการได้ ดังนั้นจึงขอพูดว่า บุคคลที่ควรอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจดี กว่าคือ พวกที่มีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้สูง เช่นพวกที่มีความสัมพันธ์ทางเพศตั้งแต่อายุยังน้อย พวกที่มีลูก 2-3 คนขึ้นไป พวกที่มีความสำส่อนทางเพศ พวกที่มีอาชีพเป็นหญิงบริการ พวกที่มีการอักเสบของปากมดลูกตกขาว เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง
* ควรตรวจทุกปีไหม

         สมัยก่อนแนะนำให้ตรวจทุกปี แต่เดี๋ยวนี้แม้แต่ในต่างประเทศก็เห็นแล้วว่าอาจไม่ตรวจทุกปี นอกจากพวกที่มีอัตราเสี่ยงสูง   พวกที่ไม่เสี่ยงมากหรือพวกที่เสี่ยงมากที่คิดว่าดีพอแล้วคือ ตรวจ 2 ปีติดกัน (ปีละครั้ง) แล้วเป็นปกติดีก็เว้นไปเป็น 3-4 ปีตรวจครั้งก็ได้
* การรักษามีกี่วิธี

         มี 2 วิธีคือ การผ่าตัด กับ การใช้รังสีรักษา (ฝังแร่กับฉายแสง)         จะมีวิธีไหน ขึ้นกับระยะของโรค         ถ้าเป็น ระยะ 0 คือระยะแรกเริ่มก่อนมีอาการใช้วิธีผ่าตัดเพียงอย่างเดียว สามารถหายขาดได้เกือบร้อยละ 100         ถ้าเป็น ระยะที่ 1 ใช้การผ่าตัดหรือฝังแร่และฉายแสง         ถ้าเป็น ระยะที่ 2, 3 และ 4 ใช้วิธีฉายแสง แล้วตามด้วยการฝังแร่
* โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดไหม

         หายขาดได้ ชาวบ้านหรือแม้แต่หมอเราส่วนใหญ่ คิดว่าการเป็นมะเร็งก็คือความตาย
         แต่ความจริงทุกระยะมีโอกาสหายขาดได้ และถึงแม้ไม่หายขาดการรักษาก็ช่วยลดความทุกข์ทรมาน ย่อมมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างแน่นอน
* วิธีป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็งนี้ล่ะครับ

         ตามที่ได้บอกไว้แล้วว่า เรายังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด เพียงแต่ยอมรับว่าความสัมพันธ์ทางเพศมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก   ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าการป้องกันที่ดีที่สุดคือ ถือศีลแบบพระห้ามมีเพศสัมพันธ์ดังนี้ก็คงจะขัดกับธรรมชาติของคนเราเป็นแน่
เพราะฉะนั้น การตรวจแป๊ปสเมียร์ ก่อนมีอาการจึงเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เกี่ียวกับการรักษามะเร็งปากมดลูก

* ปัญหาที่แพทย์ปวดขมอง

           เนื่อง จากคนไข้ส่วนมากตรวจพบเป็นมะเร็งปากมดลูกในระยะที่ 2 ขึ้นไปต้องรักษาด้วยการฝังแร่และตามด้วยการฉายแสง การฉายแสงทำได้เพียงไม่กี่แห่ง (ในต่างจังหวัดมีที่เชียงใหม่เพียงแห่งเดียว)
          คนไข้ที่เป็นกันส่วนใหญ่เป็นคนจนๆ และอยู่นอกกรุงเทพฯ จึงมีความยากลำบากในการเดินทางมารักษาที่กรุงเทพฯ   พบว่าคนไข้ที่มารักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี 100 คนมีถึง 30 คนที่มีปัญหาในการรักษา        ใน 30 คนนี้ 20 คนปฏิเสธการรักษาเพราะความยากจน ไม่มีที่พักและเพราะว่ามีความเชื่อผิดๆ หันไปหาเกจิอาจารย์ต่างๆ กินยาหม้อ ยาโบราณรดน้ำมนต์
         อีก 10 คน ฉายแสงได้ 1-2 อาทิตย์ (ปกติต้องฉายนาน 4-5 อาทิตย์) เลือดหยุดก็นึกว่าหายแล้ว บางคนที่กลัวมากกินยาหม้อร่วมด้วยก็เลยนึกว่าหายจากยาหม้อเสียฉิบ ก็เลยไม่ได้รับการฉายแสงให้ได้ครบถ้วนตามกระบวนการ ซึ่งทำให้โอกาสที่จะหายขาดนั้นลดน้อยลงไป เมื่อเริ่มการรักษาใหม่
* กินยาหม้อได้ผลจริงไหม

         เห็น จะพูดยาก เพราะตัวมะเร็งนั้นมีการเจริญช้าเร็วไม่เหมือนกันในแต่ละคน ถ้าเป็นชนิดลุกลามช้าๆ แล้วไปกินยาหม้อเข้าโรคไม่ทรุดหนัก ก็ดูเหมือนว่าพวกนี้มีชีวิตอยู่ได้นาน นึกว่ายาหม้อได้ผล ความจริงโรคยังเป็นอยู่และจะค่อยๆ ลุกลามจนเป็นอันตรายได้ ถ้าจะพิสูจน์กันจริงๆ ก็ควรมีการวิจัยโดยแพทย์แล้วรวบรวมสถิติกันดูว่าหายจริงหรือไม่
* มียาชนิดกินไหม

         ยังไม่มียากินที่ได้ผล การรักษาจึงมีแต่การผ่าตัดกับกาฉายแสงเท่านั้น
* ว่ากันว่าฉายแสงทรมานจริงไหม

        การรักษาด้วยรังสีมี 2 แบบ คือ การฝังแร่กับการฉายแสง
        การฝังแร่ นอนในห้องฝังแร่นานแค่ 48 ชั่วโมงเท่านั้น
        การ ฉายแสง อาจทำให้ถ่ายเป็นมูกเลือด ท้องเสีย อาจเป็นหลังฉายแสง 2 ปีไปแล้วก็ได้ ถือว่าเป็นโรคแทรกของการฉายแสง แต่ก็คุ้มกับการยืดชีวิตให้ยืนยาวออกไป          คนไข้บางคนเลยไปบอกเล่าให้คนอื่นๆ ว่าแพ้แสง ทำให้เกิดการเข้าใจผิดนึกว่า การฉายแสงทำให้ผิวดำเกรียมยังกับเอาไฟมาไหม้จะเจ็บปวด ทำให้คนไข้ที่เป็นโรคนี้ส่วนมากกลัวการฉายแสง จริงๆ แล้วมันไม่ใช่อย่างนั้น การ ฉายแสงมีความสะดวกสบาย ปกติฉายเพียงวันละ 5-15 นาที นอนเฉยๆ ไม่เจ็บปวดแต่อย่างไร ฉายเสร็จก็กลับบ้านได้ ไม่ต้องพักอยู่ในโรงพยาบาลแต่ต้องเสียเวลาเทียวไปเทียวมาทุกวัน
* ค่ารักษาแพงไหม
          ถ้า รักษาโรงพยาบาลของรัฐ คนที่ไม่มีสตางค์ ทางโรงพยาบาลมีแผนกประชาสงเคราะห์ก็รักษาให้ฟรีๆ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด หรือฉายแสงก็ได้ทั้งนั้น
* มีของแสลงไหม

         อาหารที่กินแล้วทำให้มะเร็งงอกขึ้นนั้นไม่มีแน่  แต่ระหว่างรักษา ควรกินอาหารพวกโปรตีน (เนื้อ นม ไข่) และพวกวิตามิน ให้มากๆ เพื่อบำรุงให้ร่างกายทนต่อการรักษา ใน 1-2 อาทิตย์แรกที่ฉายแสงไม่ควรกินอาหารที่ย่อยยากหรือรสจัด อาจทำให้มวนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เลยพาลนึกว่าแพ้แสง แล้วเลิกรากันไปกลางคัน ควรกินอาหารที่มีรสอ่อนไม่ให้มวนท้อง

วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สระแก้ว 1

โดย
สร้อยสน ปานอนันต์

สระแก้ว 2

โดย
สร้อยสน ปานอนันต์

สระแก้ว1

สระมรกต 2 : แหล่งท่องเที่ยวทางด้านโบราณสถานในพื้นที่รับผิดชอบของสถานีอนามัยโคกพนมดี ต.โคกไทย อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี

โดย
สร้อยสน ปานอนันต์

สระมรกต: แหล่งท่องเที่ยวทางด้านโบราณสถานในพื้นที่รับผิดชอบของสถานีอนามัยโคกพนมดี ต.โคกไทย อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี


โดย
สร้อยสน ปานอนันต์