วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

ภูมิปัญญาชาวนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน

วันที่ 09 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ขอขอบคุณข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจhttp://www.prachachat.net/

ภูมิปัญญาชาวนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน โครงการปั้นทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ ความสุขที่สัมผัสได้จริง...


ถ้าเป็นเมื่อก่อน บ้านหนองแต้ ตำบลบ้านดง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เป็นเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ ไกลปืนเที่ยง แต่วันนี้ อาจไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว

...วันนี้ หมู่บ้านแห่งนี้ดูคึกคัก มีชีวิตชีวา และกำลังได้รับความสนใจ เมื่อกลายเป็นแหล่งกรณีศึกษา "ทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสนบาท !"

โครงการทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสนบาท เป็นโครงการริเริ่มของภาคเอกชนอย่างหอการค้าไทย ที่อาสาเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ และรายได้ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยการประยุกต์หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปรับใช้ มีพื้นที่นำร่อง คือบ้านหนองแต้, บ้านบ่อ, บ้านกุดเชียงมี ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

"ดุสิต นนทะนาคร" ประธานหอการค้าไทย เผยว่า หอการค้าไทยริเริ่มโครงการทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสนบาท เพื่อต้องการช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จังหวัดที่เลือกเป็นโครงการนำร่อง คือ จ.ขอนแก่น โดยผลักดันให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทำเกษตรแบบ ผสนผสาน ทำนา ปลูกพืชเสริม และเลี้ยงสัตว์ เพื่อไว้บริโภค และขายเป็นรายได้

"หากสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ ผมเชื่อว่าจะช่วยลดความแตกแยกในสังคมไทยด้วย ชาวบ้านต้องขยันขึ้น เหนื่อยขึ้น แต่ก็มีความสุขขึ้น เพราะทุกภาคส่วนจะเป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในโครงการ"

1 ไร่ 1 แสน ฝันที่เป็นจริง

"สมัย สายอ่อนตา" ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ต.บ้านดง เล่าว่า แต่เดิม ชาวบ้านได้ยินโครงการแล้ว ไม่มีใครเชื่อแม้แต่คนเดียว หลังจากมีทีมงานวิจัยของ ม.หอการค้าไทยและคณะเข้ามาเก็บข้อมูล ให้คำปรึกษา แนะแนวทางในหลักวิชาการให้เข้ากับกับภูมิปัญญาของชาวนา ชาวบ้านก็ค่อย ๆ เปลี่ยนทัศนคติไปจากเดิม

ว่า ทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสนบาท สามารถทำได้จริง ๆ

ทั้งนี้ วิธีการทำนาของเกษตรกร ก็คือแบ่งแปลงนาขนาด 1 ไร่ ออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรก คือ "คันนา" ขนาดความกว้าง 1.5 เมตร ไว้สำหรับปลูกพืชประกอบ เช่น พริก มะนาว มะรุม โดยพืชที่ปลูกบนคันนา จะสามารถสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกร เหลือจากการขาย สามารถทำเป็นพืชสมุนไพร ใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืช

ส่วนที่สอง คือขุดร่องน้ำสำหรับทำประมง เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงกบ เลี้ยงหอย ซึ่งมูลสัตว์เหล่านี้จะกลายเป็นปุ๋ยแก่ข้าว ขณะที่ส่วนที่สาม คือพื้นที่สำหรับปลูกข้าว และส่วนที่สี่ คือพื้นที่เลี้ยงเป็ดไข่ จะปล่อยเป็ดไปหากินตามแปลงนาได้

"สมัย" อธิบายว่า ชาวนาจะปรับสภาพดินโดยใช้จุลินทรีย์ที่คัดมาเป็นพิเศษในห้องทดลอง แล้วทำระบบนิเวศน์ใหม่ให้เหมาะสมกับการเกิดแพลงตอนในนาข้าว ถ้าทำได้ จะทำให้เกิดสาหร่ายสีเขียวที่มีประโยชน์ในนาข้าวเป็นจำนวนมาก พวกสัตว์น้ำทั้งหลาย กุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ หามาปล่อยให้มันกินกันเอง

และเมื่อให้ปุ๋ยกับต้นข้าว สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือจะมีแมลงปอมาวางไข่เป็นจำนวนมาก กลายเป็นกองทัพอากาศ ทำหน้าที่กำจัดแมลงศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี ส่วนตามคันนา ก็ปลูกพืชที่สร้าง รายได้เสริม เช่น พริก มะนาว ข่า ตะไคร้ มะเขือ หอมแดง หรือมะรุม และเลี้ยงสัตว์ประกอบ เช่น เลี้ยงเป็ดไข่ กบ เพื่อเสริมรายได้

เมื่อเข้าช่วงเก็บเกี่ยว พบว่าได้ข้าวติดรวงเป็นจำนวนมาก มากกว่านั้น ยังขายได้ทั้งพืชอื่น ๆ ที่ปลูกตามคันนาไว้ ขายปลา ขายหอย ขายปู ขายกุ้ง ส่วนข้าวที่ปลูก ขายเป็นข้าวหอมนิล กินแล้วมีสรรพคุณเป็นยา ช่วยต้านทานโรคได้สารพัด

ประยุกต์ภูมิปัญญาดั้งเดิม

"สมัย" เล่าต่อว่า ส่วนหนึ่งที่ชาวนาที่นี่ทำได้ เพราะผู้เข้าร่วมโครงการส่วนมากเป็นเกษตรกรที่มีความรู้ เพราะส่วนใหญ่เป็นสมาชิกเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรอินทรีย์ตำบลบ้านดง พวกเราใช้หลักนิเวศวิทยา ไม่มีการใช้สารเคมี กลับไปทำนาแบบดั้งเดิมเมื่อหลายร้อยปีก่อน และนำความรู้ที่แฝงในพระไตรปิฎกมาประยุกต์ใช้ คือเพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี หรือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นั่นเอง

ล่าสุด จากการประเมินผลการดำเนินงานของทีมงานวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า จากกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน 2553 ผลตอบรับจากเกษตรกรเป็นที่น่าพอใจ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสนบาท ทั้งสิ้น 19 ราย มี 8 ราย ทำเต็มรูปแบบโครงการ และมีถึง 6 ราย มีรายรับรวมของผลผลิตโดยประมาณเกินกว่า 1 แสนบาท โดยเกษตรกร 6 รายนี้ยังมีรายได้เสริม นอกจากการทำนา คือการขายสัตว์น้ำและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำถึงร้อยละ 76 ของรายได้รวม นอกจากนี้ ยังมีรายได้เสริมจากพืชอีกร้อยละ 10

"สมัย" บอกว่า สิ่งที่ชาวนาตำบลบ้านดงได้เรียนรู้ คือพวกเราสามารถบริหารจัดการพื้นที่น้อย ๆ ให้มีประโยชน์ได้มากที่สุด เช่น ขุดคูลอกนา ปกติกว้าง 1 เมตร ลึก 1 เมตร ถ้าทำนาอย่างเดียว รายได้จะไม่เกิน 2 พันบาท แต่ถ้าเลี้ยงปลาด้วย ก็จะมีรายได้ประมาณ 5,000-6,000 บาท สมมติปล่อยได้เป็นหมื่นตัว นับอัตราการตาย 30% ก็เหลือราว 7 พันตัว ถ้าคิดตัวละ 10 บาท มีรายได้ 7 หมื่นบาทแล้ว

ส่วนผัก เช่น พริก ปกติจะต้องหว่านกล้าก่อน แต่องค์ความรู้ใหม่ที่เราได้จากหอการค้า ก็คือเอาเมล็ดไปปลูกเลย ปลูกที่คันนา กลายเป็นรายได้เสริม จากการทำนา "สมัย" เล่าด้วยความภูมิใจว่า ในฐาะชาวนา สำหรับเขาแล้ว ยังไม่ได้กำเงินแสนหรอก แต่สิ่งที่เขาได้กลับคืนมา คือวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น ความปรองดองในชุมชน ซึ่งไม่ต้องเสียเงิน งบประมาณ

"สำหรับผม ผมไม่ได้เอาเงินเป็นที่ตั้ง ทุกวันนี้ ผมทำ นาบุญ รักษาแม่ธรณีไว้ รักษาแม่โพสพไว้ ผมไม่ใส่ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เกี่ยวข้าวเสร็จ ไม่เผาหญ้า ไม่เผาฟาง"

ต้องเรียนรู้ไม่สิ้นสุด

เขาบอกว่า "...เราอาจจะเอาเงินเป็นเป้าหมายได้ แต่ไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้ง ก็เหมือนแข่งกีฬา เป้าหมายคือเหรียญทอง แต่กว่าจะได้มาด้วยเหรียญทอง ก็ต้อง ค่อย ๆ ฝึก ค่อย ๆ ทำ เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าคุณเอาเงินเป็นที่ตั้ง ทำทุกวิถีทางที่จะได้เงิน สิ่งที่จะหวนกลับมาหาคุณ คือนาบาป"

"ใครถามผมว่า ทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสนบาท จริงหรือ ผมตอบว่า จริง (ครับ) แต่ถ้าถามว่า เห็นตัวเงินหรือยัง วันนี้เห็นแค่ 20% สำหรับผมเรียกโครงการนี้ว่า โครงการไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเราต้องเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่ว่า ทำแล้วจะได้เลย

สำหรับ "สมัย" เขาตัดสินใจลาออกจากราชการตำรวจ เมื่อ 10 ปีก่อน แล้วกลับมาทำนาที่บ้านเกิด ร่วมกับสมาชิกในหมู่บ้าน ก่อตั้งเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ต.บ้านดง เปลี่ยนแนวคิดการทำนาเสียใหม่ คือเลิกใช้ปุ๋ย ใช้ยาฆ่าแมลง หันเข้าหาเกษตรธรรมชาติ ปัจจุบัน "สมัย" มีความสุขและภาคภูมิใจกับอาชีพชาวนาที่เขารัก

ทุกวันนี้ "สมัย" สายอ่อนตา ผู้ชายธรรมดา ใส่เสื้อราคาถูก แห่งบ้านดง มีรายรับต่อเดือนเกือบ 3 หมื่นบาท เป็นรายรับจากข้าว 7 พันกว่าบาท รายรับจากการเลี้ยงสัตว์ 2 หมื่นบาท และรายรับจากการปลูกพืชอีกเกือบ 1 พันบาท จากที่เคยมีรายได้แค่หลักพันกว่าบาท จากการปลูกข้าวอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม เขาย้ำว่า สิ่งที่นอกเหนือจากเงิน คือ "...ผมได้ขวัญและกำลังใจคืนมา ผมทำนาบุญ ได้รักษาแม่ธรณีไว้ ได้รักษาแม่คงคา และที่ได้แน่นอน คือผมรักษาแม่โพสพ คือข้าว เอาไว้"

โดยเขาหวังว่า ในอนาคต สิ่งที่เขาลงมือปฏิบัติด้วยหยาดเหงื่อแรงงานจนเห็นผล จะเป็นแรงบันดาลใจให้แรงงานลูกหลานชาวนากลับบ้านมาทำนา

"ทุกวันนี้ ผมอบรมทายาทเกษตรกรทุกวัน ให้ลูกหลานเหล่านี้รู้ว่า พ่อแม่ทำไร่ทำนา มีความยากลำบากแค่ไหน กว่าจะได้เงินมา ให้เขาเรียนรู้ว่า การทำนาเป็นอย่างไร ผมจะดึงคนที่ได้รับใบลาออก จากบ้านกลับคืนสู่ท้องถิ่น ซึ่งก็คือใบปริญญา แต่เราก็ต้องสร้างความมั่นใจให้เขาว่าสามารถสร้างพื้นฐานให้เขา โดยใช้วิถีชุมชน วิถีชาวนาของเรานี่แหละ ซึ่งมันมากกว่าเงิน 1 แสนบาท"

มากกว่านั้น สิ่งที่ทำให้ "สมัย" ภาคภูมิใจในอาชีพชาวนา ก็คือ "...ทุกครั้งที่ลงนา ผมชอบยืนสงบ ๆ หลับตาอยู่กลางทุ่ง แต่พอลืมตาขึ้นมา เห็นชีวิตที่สว่าง มองเห็นงานที่ตัวเองจะทำในอนาคต เมื่อก่อน ทำนาไปเรื่อยเปื่อย แต่วันนี้ เป็นชาวนา มีเวลา มีข้าว มีความสุข ผมมองทิศทางเห็นหมดแล้วว่า ชีวิตผมจะไปทางไหน"

ด้าน "ชื่น คลังกลาง" คุณลุง วัย 60 ปี ชาวนาอีกคนที่เห็นผลเป็นรูปธรรม จากโครงการ 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสนบาท มากที่สุดก็ว่าได้ เพราะเมื่อประมาณการรายได้สุทธิแล้ว ลุงชื่นมีรายรับกว่า 230,000 บาท

ลุงชื่นเฉลยความสำเร็จเบื้องต้นว่า เมื่อครั้งได้ยินโครงการ 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสนบาท ผมอุทานว่า "จะได้ 1 แสนบาท จริงหรือ" ? ยิ่งได้ฟังหลักการต่าง ๆ เรื่องการทำเกษตรแบบผสมผสาน ลุงชื่นไม่เชื่อ...

แต่หลังจากเดินทางไปดูแปลงนาต้นแบบที่ จ.นครปฐม ของอาจารย์กิตติ์ธเนศ รังคะวรเศรษฐ์ และอาจารย์อดิศร พวงชมภู ลุงชื่นกลับมาบ้าน และเริ่มมีความคิดว่า จะต้องทำให้ได้บ้าง

ปั้นทายาทเกษตรกร

ที่สุดแล้ว ลุงชื่นจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ โดยเริ่มจากปรับพื้นที่แปลงนาตามรูปแบบของโครงการ เพาะกล้า โยนกล้า และปลาดุกลงไป 1 หมื่นกว่าตัว ใส่กบอีก 1 หมื่นตัว นอกจากนี้ ยังปลูกพริก หอมแดง ต้นหอม มะละกอ ฯลฯ

ลุงชื่นบอกว่า แรกทีเดียว เจออุปสรรคและปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการนำน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร เพราะต้องใช้เครื่องสูบน้ำ และการรักษาพืชผลทางการเกษตรไม่ให้ถูกขโมย เพราะแปลงนาอยู่ไกลจากหมู่บ้าน

แต่ลุงชื่นยังไม่ท้อ เมื่อได้รับคำแนะนำจากอาจารย์กิตติ์ธเนศ และอาจารย์อดิศรให้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อสูบน้ำเข้าพื้นที่เกษตร และยังใช้เป็นแสงสว่างในการดูแล

"...ความรู้นี้ ทำให้ผมได้รู้จักการบริหารจัดการให้เป็นระบบมากขึ้นด้วย" ลุงชื่นบอก

ผลจากความขยัน ไม่ย่อท้อ และชอบเรื่องการเกษตรเป็นทุนเดิม 1 เดือนผ่านไป ลุงชื่นเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง ข้าวในนาลุงชื่นเริ่มงาม เพราะลุงชื่นขยันฉีดพ่นน้ำ กบและปลาในนาเริ่มตัวโต "...ตอนแรก ก็คิดว่าจะไปไม่ได้ แต่พอเริ่มทำ ก็รู้สึกว่ามันดี และคิดว่า ไร่ละ 1 แสนบาท น่าจะเป็นไปได้" ลุงชื่นกล่าวด้วยความพอใจ

"ที่น่าพอใจ เพราะเห็นผล (ครับ) ผมใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้ว ให้เกิดมูลค่าในพืชผลไม่ให้สูญเปล่า หลายคนถามว่า อยู่ร่วมกันได้อย่างไร ผมก็ตอบซื่อ ๆ ว่า ก็ต้องหาวิธีให้อยู่ด้วยกันให้ได้ เพราะในน้ำมีปลา ในนามีข้าว"

ลุงชื่นตั้งใจว่า จะทำให้ลูกหลานเห็นว่าสามารถทำสำเร็จด้วยความจริง ให้เห็นผลในระยะยาว เพื่อลูกหลานชาวนาจะกลับมาเพิ่มขึ้น

"ผมว่า วันนี้ เราถึงจุดสูงสุดในการเป็นเกษตกร ผมภูมิใจมาก อยากจะบอกกับทายาทเกษตรกรว่า เรามาช่วยสร้างสรรค์ให้เกษตรกรยั่งยืนต่อไป ให้ชาวนายั่งยืนต่อไป" ลุงชื่น ชาวนา ผู้ยิ่งใหญ่ทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม "ลุงชื่น" เตือนว่า ที่ทุกคนเห็นว่าสำเร็จ น่าสนใจ มาศึกษาดูงาน ขอถ่ายรูป อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องง่าย เพราะกว่าจะถึงวันนี้ ต้องเรียนรู้ ตรากตรำลำบาก ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ฉะนั้น ต้องตั้งใจทำจริง ๆ เท่านั้น จึงจะเห็นผล

กรณีศึกษา "ทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสนบาท" ถือเป็นโครงการเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ บนความรู้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หวังในระยะยาวว่า จะไม่เป็นแค่กระแส หรือเป็นไฟไหม้ฟางในที่สุด ซึ่งนับเป็นเรื่อง ที่ท้าทาย !

นี่คือการปฏิรูป เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเครือข่ายชุมชนเขาทำอยู่แล้ว รัฐและเอกชนเข้าไปต่อยอด หรือส่งเสริมสนับสนุนในสิ่งที่เขาต้องการอย่างแท้จริง เกษตรกร-ชาวนา จะต้องยืนได้ด้วยตัวเองอย่างแท้จริงเสียที