วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การดูแลผู้ป่วยที่ติดเครื่องกระตุ้นหัวใจ






ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.eldercarethailand.com



เครื่องกระตุ้นหัวใจเป็นอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ทำงานโดยอาศัยแบตเตอรี่ เครื่องนี้จะฝังไว้บริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าอาจเป็นด้านซ้ายหรือขวาขึ้นกับความถนัดของคนไข้ ถ้าถนัดช้ายจะใส่ขวา ถนัดขวาจะใส่ซ้าย 
     หลังการผ่าตัดหากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ผู้ป่วยมักจะกลับบ้านได้ใน 2-3 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ผู้ป่วยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ยกเว้นอาการเจ็บบริเวณแผลผ่าตัดในช่วง 2 วันแรกแต่จะค่อยๆดีขึ้นและหายใน 7-10 วันซึ่งเป็นเวลาที่แผลที่ผิวหนังสมานกันดีแล้ว
      
      ในระยะ 2-3 สัปดาห์แรก ควรหลีกเลี่ยงการใช้แขนข้างผ่าตัดฝังเครื่อง ไม่แกว่งแขนวงกว้างๆหรือสูง โดยเฉพาะเร็วๆ เพราะสายขั้วไฟฟ้า (Pacemaker lead) อาจหลุดจากตำแหน่งที่เหมาะสม ทำให้การทำงานของเครื่องขัดข้อง หลัง 3 สัปดาห์ไปแล้วโอกาสที่สายจะเลื่อนหลุดจะลดลงมาก จากปฏิกิริยาของร่างกายที่สร้างพังพืดมากห่อหุ้มและยึดเครื่องและสายไว้แน่น
     หลีกเลี่ยงการถู กด หรือเกา บริเวณแผลและรอบๆแผลเพื่อ หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ ไม่เพียงระยะแรกแต่ต้องตลอดไป รวมทั้งสังเกตบริเวณแผลและรอบๆแผลว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น ปวด บวม แดง ร้อน หรือมีน้ำเหลืองไหลผิดปกติ หากสงสัยการติดเชื้อควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
     รับประทานยาตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แพทย์อาจให้ยา ปฏิชีวนะระยะสั้นๆหลังการผ่าตัด
     หากมีอาการผิดปกติเช่น ใจสั่น หน้ามืดเป็นลม เหนื่อยหอบผิดปกติ สะอึกตลอดเวลา โดยเฉพาะตามจังหวะการเต้นของหัวใจ ควรรีบพบและปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุและตรวจสอบการทำงานของเครื่อง
     มาพบแพทย์ตามนัดเป็นระยะเพื่อ ตรวจติดตามอาการและการทำงานของเครื่อง ครั้งแรก 1-4 สัปดาห์ ครั้งที่สอง  2-3 เดือน หลังจากนั้นทุก 6 เดือน
      หากไม่มีข้อห้ามอื่น ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติใน 2-3 วันหลังผ่าตัด และค่อยๆออกกำลังฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายภายในสัปดาห์แรก แต่ให้จำกัดการเคลื่อนไหวของแขนข้างผ่าตัด หลังการตรวจทดสอบเครื่องครั้งแรก (1-4 สัปดาห์หลังผ่าตัด) ถ้าไม่มีปัญหาใดๆ ผู้ป่วยสามารถออกกำลังเพิ่มมากขึ้น ทำงานอดิเรก กิจกรรมนันทนาการต่างๆ รวมทั้งเพศสัมพันธ์ตามปกติ แต่กีฬาที่ต้องแกว่งแขนแรงๆเร็วเช่น ตีกอล์ฟอาจต้องรอให้พ้นระยะ 2 เดือนไปก่อน ส่วนการอาบน้ำขึ้นกับลักษณะการปิดแผล โดยปกติก็ต้องเลย 5-7 วันไปก่อน หากไม่มีข้อห้ามอื่น ผู้ป่วยสามารถขับรถส่วนตัวได้หลังการตรวจเครื่องครั้งแรก (1-4 สัปดาห์หลังการผ่าตัด) ความกังวลจะค่อยๆลดลงพร้อมกับการประกอบกิจวัตรประจำวันและกิจกรรมต่างๆจะกลับมาเป็นปกติ
     สำหรับการเล่นกีฬา โดยทั่วไปเมื่อพ้นสองถึงสามเดือนหลังการฝังเครื่อง ไม่มีข้อห้ามสำหรับกีฬาชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ต้องคำนึงถึงโรคหัวใจ โรคอื่นๆ และสภาพร่างกายโดยรวมของผู้ป่วยเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่มีโอกาสเกิดการปะทะเช่น มวย หรือแม้แต่ ฟุตบอล บาสเกตบอล การกระแทกบริเวณที่ฝังเครื่องไว้อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนัง หากเกิดการพกช้ำหรือแผลจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อได้

บัตรประจำตัวผู้ป่วย (Pacemaker Identification Card)

     ผู้ป่วยทุกรายที่ได้รับฝังเครื่อง จะได้รับบัตรประจำตัวผู้ป่วยที่ออกโดยบริษัทที่จำหน่ายเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ โดยมีรายละเอียดในบัตรดังนี้
ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อของผู้ป่วย
ชื่อรุ่น เลขประจำเครื่อง (Serial Number) ของเครื่องและสายขั้วไฟฟ้าที่ได้รับฝังในตัวผู้ป่วย
วันที่รับการผ่าตัด
โรงพยาบาลและแพทย์ ที่ผ่าตัดหรือดูแลติดตามผู้ป่วย รวมทั้งเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ

ผู้ป่วยควรพกบัตรติดตัวไว้เสมอ โดยเฉพาะเมื่อเดินทาง เพราะอาจต้องใช้บริการทางการแพทย์ที่อื่น และสำหรับแสดงเพื่อยกเว้นการตรวจด้วยเครื่องตรวจอาวุธหรือโลหะตามสถานที่จำเพาะบางแห่งเช่น สนามบิน 

     การตรวจติดตาม ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามการทำงานของเครื่องอย่างน้อยทุก 6 เดือน การตรวจแต่ละครั้ง แพทย์จะใช้เครื่องโปรแกรมเมอร์สื่อสารกับเครื่องกระตุ้นหัวใจ ตรวจการทำงานของเครื่องกระตุ้นหัวใจ  แบต เตอรี่ที่เหลือ  การทำงานของสายและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราเต้นของหัวใจ  และภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งถูกเก็บไว้ เพื่อปรับการทำงานของเครื่องหรือปรับยาเพื่อให้หัวใจทำงานได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
 อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ปกติจะประมาณ 5-10 ปี ขึ้นกับปริมาณพลังงานที่ใช้กระตุ้นในแต่ละครั้ง และความถี่ที่เครื่องต้องส่งพลังงานไฟฟ้าไปกระตุ้น หากตรวจเช็คเครื่องแล้ว พบว่าต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ แสดงว่าแบตเตอรี่หมดอายุจำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนเครื่องกระตุ้นหัวใจใหม่

      ข้อควรระวัง เนื่องจากเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจเป็นอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ สนามแม่เหล็กกำลังสูงอาจมีผลต่อการทำงานของเครื่องได้ ผู้ป่วยจึงควรทำความเข้าใจและหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจรบกวนการทำงานของ เครื่องดังกล่าว

     1. อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านและสำนักงาน ส่วนใหญ่อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านและสำนักงานที่ทำงานปกติจะไม่มีผลรบ กวนการทำงานของเครื่องกระตุ้นหัวใจ ผู้ป่วยสามารถใช้งานได้ตามปกติ เช่น เตาไมโครเวฟ เตาอบไฟฟ้า เครื่องบด หั่น ปั่น หรือผสมอาหาร ที่เปิดกระป๋องไฟฟ้า เครื่องอบปิ้งขนมปัง เครื่องล้างจานอัตโนมัติ เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า โทรศัพท์ทั้งชนิดมีและไม่มีสาย ฯลฯ แต่แนะนำให้อยู่ห่างจากอุปกรณ์ที่มีมอเตอร์อยู่ในตัวอย่างน้อย 15 เซนติเมตร เช่น เครื่องซักผ้า อบผ้า เป็นต้น

อย่างไรก็ตามหากอุปกรณ์เหล่านี้ทำงานผิดปกติ โดยเฉพาะ ไฟรั่ว อาจมีผลรบกวนการทำงานของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าให้จังหวะหัวใจได้เมื่อเข้าใกล้หรือสัมผัส

      2. โทรศัพท์มือถือ (Mobile phone) ไม่มีผลต่อเครื่องแต่แนะนำให้ใช้มือและหูด้านตรงข้ามกับที่ฝังเครื่องกระตุ้นหัว ใจเวลาพูดคุยโทรศัพท์ และเมื่อไม่ได้ใช้โทรศัพท์ ก็ไม่ควรพกโทรศัพท์ไว้ในกระเป๋าเสื้อด้านเดียวกับที่ฝังเครื่อง กระตุ้นหัวใจหรือแขวนไว้กับคอใกล้กับเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจน้อยกว่า 15 เซนติเมตรต่อเนื่องนานๆ สำหรับเครื่องที่มีกำลังมากกว่า 3 วัตต์ ให้เพิ่มระยะห่างจากเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าให้จังหวะหัวใจเป็น 30 เซนติเมตร  

      3. อุปกรณ์ที่มีแม่เหล็กในตัว สามารถใช้ได้แต่ให้แม่เหล็กห่างจากเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าให้จังหวะหัวใจมากกว่า 15 เซนติเมตร ตู้ลำโพงขนาดใหญ่มีไว้ใช้ในบ้านได้ แต่ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยยกเพราะทำให้แม่เหล็กเข้าใกล้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจมากเกินไป ที่นอนหรือหมอนที่ฝังแม่เหล็กโดยทั่วไปมักจะหลบได้ยาก และไม่สามารถอยู่ห่างจากเครื่องกระตุ้นไฟ ฟ้าหัวใจโดยเฉพาะเมื่อหลับ จึงไม่แนะนำให้ใช้

      4. สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ อุปกรณ์ช่างที่มีกำลังมอเตอร์สูง มีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแรงสูง เช่น เลื่อยไฟฟ้า เครื่องเชื่อมโลหะ ไม่เข้าใกล้หม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เครื่องกำเนิดพลังงาน(ไฟฟ้า)ขนาดใหญ่ในโรงงานอุตสาหกรรมหรือในโรงไฟฟ้า เตาหลอม ไม่เข้าใกล้บริเวณหอและเครื่องส่งในสถานีโทรทัศน์หรือวิทยุ

     5. การตรวจรักษาทางการแพทย์ การตรวจรักษาทางการแพทย์ส่วนใหญ่สามารถทำได้โดยไม่มีผลรบกวนการทำ งานของเครื่องกระตุ้นหัวใจ เช่น
     การตรวจรักษาฟัน การกรอฟัน ถอนฟัน ผ่าตัดฟัน การตรวจเอ็กซ์เรย์  การตรวจด้วยคลื่นเสียงอัลตราซาวด์  

     การตรวจรักษาด้วยอุปกรณ์บางชนิดอาจมีผลรบกวนการทำงานของเครื่องชั่วคราว แต่สามารถทำได้ภายใต้การดู แลของแพทย์ โดยการปรับตำแหน่งที่วางอุปกรณ์เหล่านั้น หรือปรับโปรแกรมการทำงานของเครื่องกระตุ้นหัวใจชั่วคราว เมื่อให้การตรวจรักษาด้วยอุปกรณ์ดังกล่าวเรียบร้อยแล้วจึงปรับโปรมแกรมกลับมาดังเดิม เช่น เครื่องจี้ไฟฟ้าเพื่อห้ามเลือดเวลาผ่าตัด (Electrocautery) เครื่องรักษาด้วยเครื่องกำเนิดความร้อน (Diathermy) เครื่องสลายนิ่ว (Lithotripsy) เครื่องกระตุกช็อกไฟฟ้าจากภายนอก (External defibrillator) การตรวจและรักษาด้วยการใส่สายสวนหัวใจและจี้รักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยคลื่นไฟฟ้าความถี่สูง (Radiofrequency ablation) การรักษาด้วยการฉายรังสี (Radiation therapy) การใช้ไฟฟ้ากระตุ้นประสาทผ่านทางผิวหนังเพื่อรักษาเช่นเพื่อลดอาการปวด (Transcutaneous Electrical Nerve Stimulation; TENS) อุปกรณ์ช่วยการได้ยินบางอย่างใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ควรตรวจทดสอบว่ามีการรบกวนการทำงานของเครื่องกระ ตุ้นหัวใจหรือไม่ก่อนให้ใช้ เพราะต้องใช้ในระยะเวลานาน

     สำหรับการตรวจเพื่อให้ได้ภาพโดยใช้คลื่นสะท้อนแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging) ยังเป็นข้อห้ามสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจอยู่ แม้ว่าเครื่องกระตุ้นหัวใจรุ่นใหม่จะมีความปลอดภัยมากขึ้นจากการรบ กวนโดยการตรวจวิธีนี้ ในรายที่ไม่มีวิธีอื่นจำเป็นต้องใช้วิธีการตรวจพิเศษนี้ควรปรึกษาแพทย์

    การเดินทาง ควรพบและปรึกษาแพทย์ อาจต้องตรวจการทำงานของเครื่องก่อนการเดินทาง ต้องพกบัตรประจำตัวผู้ได้รับการฝังเครื่องด้วยเสมอ แสดงบัตรเมื่อต้องผ่านบริเวณที่มีประตูหรือการใช้อุปกรณ์สำหรับการตรวจหาอาวุธหรือโลหะ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจบริเวณที่มีเครื่องฝังอยู่ (แต่อาจต้องรับการตรวจค้นด้วยมือแทน) โดยทั่วไปการเดินผ่านประตูที่มีเครื่องตรวจอาวุธและโลหะไม่มีผลทำให้การทำงานของเครื่องเสียหน้าที่ ยกเว้นยืนค้างที่ประตูนานๆ อาจมีผลต่อการทำงานของเครื่องได้ เมื่อพ้นประตูไป ก็จะกลับสู่ปกติทันที แต่การเดินผ่านอาจกระตุ้นให้เสียงเครื่องตรวจโลหะดัง การแสดงบัตรจะช่วยให้ได้ความสะดวกในการตรวจค้นและผ่านไปได้รวดเร็วขึ้น ในห้องสมุดและตามห้างสรรพสินค้าต่างๆปัจจุบันจะที่เครื่องตรวจป้องกันการขโมย ผู้ป่วยที่มีเครื่องกระตุ้นหัวใจสามารถเดินผ่านได้โดยไม่ทำให้การทำงานของเครื่องผิดปกติ แต่ไม่ควรยืนค้างระหว่างเครื่องตรวจนานๆ  หากเครื่องตรวจจับขโมยดัง ควรแสดงบัตรประจำตัวของผู้ป่วย ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติโดยทั่วไปไม่มีผลรบกวนการทำงานของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าให้จังหวะหัวใจ ระบบสัญญาณกันขโมยในบ้านทั่วไปไม่มีผลทำให้เครื่องทำงานผิดปกติ และเครื่องกระตุ้นหัวใจก็ไม่กระตุ้นสัญญาณกันขโมยดังแต่อย่างใด

     หากมีโรคประจำตัวอื่นควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลด้วย รวมทั้งเตรียมยาในปริมาณที่เหมาะสม หากเดินทางไกต่างประเทศในระยะเวลานาน อาจมีความจำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์ สรุปการรักษาและยาที่ใช้ เพราะอาจจะต้องใช้บริการทางการแพทย์ต่างแดนหรือซื้อยาเพิ่มเติมซึ่งมักต้องใบสั่งยาจากแพทย์

วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เครื่องกระตุ้นหัวใจ


"เครื่องกระตุ้นหัวใจ" รุ่นใหม่ ผ่านเข้าสแกนในอุโมงค์ "เอ็มอาร์ไอ" ได้หายห่วง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.prachachat.net

ก้าวเข้าสู่วัยชรา...นอกจากสังขารที่ร่วงโรยแล้ว อวัยวะต่าง ๆ ก็ยังเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา

แต่มีอวัยวะอย่างหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการมีชีวิตอยู่เป็นอย่างยิ่งนั่นคือ "หัวใจ" เพราะถ้าเกิดเหตุกับอวัยวะนี้แล้ว ทุกอย่างก็จบไปพร้อม ๆ กัน


สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ...เวลานี้มีเทคโนโลยีล่าสุดที่เข้ามาช่วยชีวิตผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยเฉพาะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติที่สามารถช่วยกระตุ้นการเต้นของหัวใจให้เป็นไปตามปกติได้


นั่นคือเครื่องกระตุ้นหัวใจ !


น.พ.ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ หน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีกล่าวว่า โดยปกติหัวใจของคนเราจะเต้นนาทีละ 60-100 ครั้ง แต่ถ้ามีสิ่งเร้ามากระตุ้นก็จะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นได้ อาทิ การออกกำลังกาย


สำหรับคนที่หัวใจเต้นช้าจะมีอัตราการเต้นต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาที โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 30-40 ครั้งต่อนาทีเท่านั้น ส่วนผู้ที่หัวใจเต้นเร็วก็จะมีอัตราการเต้นสูงกว่า 100 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป


ขั้นตอนการรักษาผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว


ทางการแพทย์มียารับประทานที่จะช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจให้อยู่ในภาวะปกติได้ แต่ถ้าเป็นอาการของหัวใจเต้นช้าแล้วจำเป็นต้องใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่จะช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจให้เข้าสู่ภาวะปกติ


"สาเหตุของหัวใจเต้นช้ามาจาก 2 ปัจจัยที่พอจะอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย คือ 1.แบตเตอรี่หัวใจซึ่งอยู่หัวบนขวาเสื่อม 2.ระบบสายไฟในหัวใจเสื่อม ซึ่งทำให้มีการลัดวงจรของการเต้นของหัวใจ


มีผลให้หัวใจเต้นช้าลง ทำให้ผู้ป่วยมีการหน้ามืด เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ เหนื่อยง่าย และทำให้หัวใจล้มเหลวได้"


วิธีการรักษา


การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจไว้กับผู้ป่วย เครื่องนี้จะมีขนาดใกล้เคียงกับเหรียญ 10 บาท และมีสายร้อยเข้าไปในหัวใจห้องบนและห้องล่างอย่างละ 1 เส้น


ในตัวเครื่องจะมีแบตเตอรี่ที่คอยกระตุ้นการทำงานของหัวใจให้บีบตัวได้ตามปกติ ซึ่งอายุการใช้งานจะขึ้นอยู่กับแบตเตอรี่ในเครื่องโดยจะมีอายุประมาณ 8-10 ปี


"วิธีการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ทำด้วยการผ่าตัดฝังเครื่องเข้าไปที่ใต้ผิวหนังบริเวณหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ผู้ป่วยใช้เวลาในการพักฟื้นแค่ 2-3 วันก็กลับบ้านได้ และถ้าแบตเตอรี่หมดก็เพียงแค่มาผ่าตัดเปลี่ยนแบตเตอรี่เท่านั้น"


ค่าใช้จ่าย


การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1 แสนบาทขึ้นไป แต่เวลานี้ระบบบัตรประกันสุขภาพสามารถครอบคลุมได้หมด


ระบบประกันสังคมสามารถทำเรื่องขออนุมัติได้เป็นราย ๆ ไป ในปี 2553 ที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่ติดตั้งเครื่องนี้ไปแล้ว 1,800 ราย


อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ติดตั้งเครื่องกระตุ้นหัวใจในช่วงที่ผ่านมาจะถูกห้ามทำสแกนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (เอ็มอาร์ไอ) ซึ่งเป็นเครื่องที่ตรวจโดยใช้สนามแม่เหล็ก เพราะอาจจะส่งผลต่อเครื่องกระตุ้นหัวใจที่ทำงานด้วยวงจรไฟฟ้า อาจจะเสี่ยงเกิดการลัดวงจรภายในตัวเครื่องกระตุ้นหัวใจ ซึ่งจะมีผลต่อชีวิตของผู้ป่วยได้


"ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจหลายพันคน เป็นผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะต้องวินิจฉัยโรคโดยใช้เอ็มอาร์ไอ เช่น โรคมะเร็ง พบว่าผู้ใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจกว่า 50-75% จำเป็นต้องได้รับการสแกนเอ็มอาร์ไอ 1 ครั้งในช่วงอายุการใช้งานของเครื่องกระตุ้นหัวใจ"


แต่เวลานี้มีเทคโนโลยีล่าสุดสำหรับเครื่องกระตุ้นหัวใจรุ่นใหม่ สามารถเข้าเครื่องสแกนเอ็มอาร์ไอได้เพียงแค่ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ภายในเครื่องกระตุ้นหัวใจใหม่ด้วยการลดจำนวนโลหะในเครื่องลง และยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ดียิ่งขึ้น รับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทยเรียบร้อบแล้ว


นี่คือ...อีกหนึ่งนวัตกรรมสำหรับชีวิต !