วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เครื่องกระตุ้นหัวใจ


"เครื่องกระตุ้นหัวใจ" รุ่นใหม่ ผ่านเข้าสแกนในอุโมงค์ "เอ็มอาร์ไอ" ได้หายห่วง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.prachachat.net

ก้าวเข้าสู่วัยชรา...นอกจากสังขารที่ร่วงโรยแล้ว อวัยวะต่าง ๆ ก็ยังเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา

แต่มีอวัยวะอย่างหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการมีชีวิตอยู่เป็นอย่างยิ่งนั่นคือ "หัวใจ" เพราะถ้าเกิดเหตุกับอวัยวะนี้แล้ว ทุกอย่างก็จบไปพร้อม ๆ กัน


สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ...เวลานี้มีเทคโนโลยีล่าสุดที่เข้ามาช่วยชีวิตผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยเฉพาะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติที่สามารถช่วยกระตุ้นการเต้นของหัวใจให้เป็นไปตามปกติได้


นั่นคือเครื่องกระตุ้นหัวใจ !


น.พ.ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ หน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีกล่าวว่า โดยปกติหัวใจของคนเราจะเต้นนาทีละ 60-100 ครั้ง แต่ถ้ามีสิ่งเร้ามากระตุ้นก็จะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นได้ อาทิ การออกกำลังกาย


สำหรับคนที่หัวใจเต้นช้าจะมีอัตราการเต้นต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาที โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 30-40 ครั้งต่อนาทีเท่านั้น ส่วนผู้ที่หัวใจเต้นเร็วก็จะมีอัตราการเต้นสูงกว่า 100 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป


ขั้นตอนการรักษาผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว


ทางการแพทย์มียารับประทานที่จะช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจให้อยู่ในภาวะปกติได้ แต่ถ้าเป็นอาการของหัวใจเต้นช้าแล้วจำเป็นต้องใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่จะช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจให้เข้าสู่ภาวะปกติ


"สาเหตุของหัวใจเต้นช้ามาจาก 2 ปัจจัยที่พอจะอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย คือ 1.แบตเตอรี่หัวใจซึ่งอยู่หัวบนขวาเสื่อม 2.ระบบสายไฟในหัวใจเสื่อม ซึ่งทำให้มีการลัดวงจรของการเต้นของหัวใจ


มีผลให้หัวใจเต้นช้าลง ทำให้ผู้ป่วยมีการหน้ามืด เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ เหนื่อยง่าย และทำให้หัวใจล้มเหลวได้"


วิธีการรักษา


การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจไว้กับผู้ป่วย เครื่องนี้จะมีขนาดใกล้เคียงกับเหรียญ 10 บาท และมีสายร้อยเข้าไปในหัวใจห้องบนและห้องล่างอย่างละ 1 เส้น


ในตัวเครื่องจะมีแบตเตอรี่ที่คอยกระตุ้นการทำงานของหัวใจให้บีบตัวได้ตามปกติ ซึ่งอายุการใช้งานจะขึ้นอยู่กับแบตเตอรี่ในเครื่องโดยจะมีอายุประมาณ 8-10 ปี


"วิธีการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ทำด้วยการผ่าตัดฝังเครื่องเข้าไปที่ใต้ผิวหนังบริเวณหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ผู้ป่วยใช้เวลาในการพักฟื้นแค่ 2-3 วันก็กลับบ้านได้ และถ้าแบตเตอรี่หมดก็เพียงแค่มาผ่าตัดเปลี่ยนแบตเตอรี่เท่านั้น"


ค่าใช้จ่าย


การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1 แสนบาทขึ้นไป แต่เวลานี้ระบบบัตรประกันสุขภาพสามารถครอบคลุมได้หมด


ระบบประกันสังคมสามารถทำเรื่องขออนุมัติได้เป็นราย ๆ ไป ในปี 2553 ที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่ติดตั้งเครื่องนี้ไปแล้ว 1,800 ราย


อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ติดตั้งเครื่องกระตุ้นหัวใจในช่วงที่ผ่านมาจะถูกห้ามทำสแกนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (เอ็มอาร์ไอ) ซึ่งเป็นเครื่องที่ตรวจโดยใช้สนามแม่เหล็ก เพราะอาจจะส่งผลต่อเครื่องกระตุ้นหัวใจที่ทำงานด้วยวงจรไฟฟ้า อาจจะเสี่ยงเกิดการลัดวงจรภายในตัวเครื่องกระตุ้นหัวใจ ซึ่งจะมีผลต่อชีวิตของผู้ป่วยได้


"ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจหลายพันคน เป็นผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะต้องวินิจฉัยโรคโดยใช้เอ็มอาร์ไอ เช่น โรคมะเร็ง พบว่าผู้ใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจกว่า 50-75% จำเป็นต้องได้รับการสแกนเอ็มอาร์ไอ 1 ครั้งในช่วงอายุการใช้งานของเครื่องกระตุ้นหัวใจ"


แต่เวลานี้มีเทคโนโลยีล่าสุดสำหรับเครื่องกระตุ้นหัวใจรุ่นใหม่ สามารถเข้าเครื่องสแกนเอ็มอาร์ไอได้เพียงแค่ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ภายในเครื่องกระตุ้นหัวใจใหม่ด้วยการลดจำนวนโลหะในเครื่องลง และยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ดียิ่งขึ้น รับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทยเรียบร้อบแล้ว


นี่คือ...อีกหนึ่งนวัตกรรมสำหรับชีวิต !

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น