วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยที่จังหวัดปราจีนบุรี

(ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://sustainabletourismdpu.blogspot.com)



การเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยที่บ้านหัวหว้า อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี

แหล่งท่องเที่ยวที่เราจะเดินทางไปเที่ยวชม คือ บ้านของอาจารย์สุนทร ชวนะพานิช

อาจารย์ สุนทร ชวนะพานิช อายุ ๔๘ ปี เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขดีเด่นสาขาภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยและสุขภาพระดับชาติ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทยของ จ.ปราจีนบุรีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย เป็นประธานชมรมหมอพื้นบ้าน อ.ศรีมหาโพธิ เป็นกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดปราจีนบุรี ฯลฯ

บ้านของอาจารย์เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวเชิงภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการในจังหวัด

ภูมิลำเนาเดิมของอาจารย์สุนทรเป็นชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาจารย์สุนทร ย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านหัวหว้า ตำบลหัวหว้า อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี เมื่อ ๑๗ ปีที่ผ่านมา

อยู่อย่างพอเพียงแบบอาจารย์สุนทร ชวนะพานิช : อยู่อย่างไร
จากไร่มันสำปะหลังเก่า เนื้อดินแบบลูกรังผุพังผสมกับดินเหนียวปนทราย มีพื้นที่โดยรวมประมาณ ๘ ไร่ อาจารย์สุนทรใช้เวลา ๑๗ ปีปลูกป่าสมุนไพร จนร่มรื่น มีกระท่อมที่พักอาศัย โรงเพาะชำ อโรคยศาลา(สถานพยายบาล) ๑ หลัง ลานตากสมุนไพร สระน้ำและบ่อน้ำสำหรับการอุปโภคและบริโภค
รายได้หลักของอาจารย์สุนทร คือ การขายพืชผักพื้นบ้านและสมุนไพรที่ผลิตขึ้นจากป่าในเขตบ้าน โดยเฉพาะผลเสาวรส ซึ่งมีดกดื่นเกาะเลื้อยอยู่ตามไม้ยืนต้น นอกจากนี้อาจารย์สุนทรยังส่งสมุนไพรให้แหล่งจำหน่ายหลายแห่งด้วย

อาจารย์และภรรยาบอกว่า ทั้งหมดนี้เป็นความรวยในความพอเพียง ตามคติการดำเนินชีวิตของอาจารย์ คือ ผักพื้นบ้าน อาหารเป็นยา ฟื้นฟูวัฒนธรรมกินอยู่ หลับนอนวิถีธรรมชาติเพื่อสุขภาพ ไม่เน้นความฟุ่มเฟือย  การกินที่ผิดสุขลักษณะเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วย
ชาวตะวันตกมักพูดว่า “Your are what you eat” คือ คุณกินอะไรเข้าไปร่างกายก็จะแสดงสิ่งนั้นออกมา เช่น กินแคบหมูน้ำพริกหนุ่มมาก ก็จะมีไขมันในเส้นเลือดมาก กินผักผลไม้มากระบบขับถ่ายของเสียในร่างกายก็ทำงานดี อบสมุนไพรมากหน้าตาผิวพรรณก็จะสะอาดเปล่งปลั่งเยาว์วัยเสมอเช่นกัน
แนวคิดของอาจารย์สุนทร ชวนะพานิช ก็คล้ายกับคำกล่าวข้างต้น คือ ท่านเห็นว่าร้อยละ ๙๕ ของคนเราที่เจ็บป่วยทุกวันนี้ เกิดจากนิสัยในการกินอาหารที่ไม่เป็นเวลา กินได้ทั้งวัน บางทีวันทั้งวันอยู่แต่ในห้องแอร์ จนร่างกายไม่มีโอกาสขับเหงื่อออกมาเท่าที่ควร
การกินอยู่หลับนอนอย่างเหมาะสมจะช่วยให้คนเราสุขภาพดี
การออกกำลังด้วยการเดินชมสวนสมุนไพร

บ้านอาจารย์สุนทรเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย อาจารย์สุนทรสามารถจำชื่อและสรรพคุณสมุนไพรนานาชนิดอย่างแม่นยำ ในสวนมีทางเดินปูแผ่นศิลาแลง ซึ่งอาจารย์จะพานักเรียน นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เข้ามาดูงาน เดินลัดเลี้ยวไปมา ทั้ง ชมและชิม สมุนไพรและผลไม้พื้นบ้านในสวน อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

ในสวนมีสมุนไพรประมาณ ๒๐๐ ชนิด ผสมผสานกับไม้ผลพื้นเมือง เช่น เสาวรส กล้วย ขนุน มะม่วง มะละกอ ส้มโอ มะพร้าว เป็นต้น และถ้าโชคดีอาจมีโอกาสเห็นไก่ป่าด้วยเช่นกัน
บ้านอาจารย์สุนทรเป็น Home stay ด้วย

อาจารย์สุนทร เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยด้วยภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย ดังนั้น นอกจากจะผลิตสมุนไพรจำหน่ายแล้วยังรับรักษาโรคบางอย่าง เช่น โรคอัมพฤกษ์ และโรคอื่นๆ

นอกจากนี้อาจารย์ยังมีกระท่อม จำนวน ๓ หลัง กลางป่าสมุนไพรสำหรับให้บริการนักท่องเที่ยวที่สนใจมาศึกษาวิถีชีวิตแบบพอเพียงด้วย

สมุนไพรที่น่าสนใจในสวนอาจารย์สุนทรมีทุกรส
ได้แก่ รสมัน รสเค็ม รสเผ็ด รสร้อน รสเผ็ดร้อน รสเย็น รสฝาด รสหอมเย็น รสหวาน แต่ละรสก็จะมีสรรพคุณในการบำบัด ป้องกัน รักษาโรคและสุขภาพแตกต่างกันออกไป อาจารย์สุนทรสามารถใช้ทั้งต้น ดอก ใบ ผล ราก กิ่ง เปลือกของสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยเลือกเก็บตามระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ได้สรรพคุณยาตามตำรา

สมุนไพรจำนวนมากออกดอกและผลสะพรั่งในหน้าฝนที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงการบำรุงรักษาอย่างเอาใจใส่  ได้แก่ เสาวรส(รสเปรี้ยวร้อน) อาจารย์บอกว่า ถ้า กินได้วันละ ๒ ลูกจะไม่เจ็บไข้ โด่ไม่รู้ล้ม(เพิ่มพลังบุรุษ) เจตมูลเพลิงแดง(ขับประจำเดือน) ว่านหางปลาไหล(แก้ไข้) เร่ว(ขับลมและโรคบุรุษ) ว่านสาวหลง(บำรุงผิวพรรณ/ เมตตา) ว่านเจ็ดกำลังช้างสาร หนุมานประสานกาย สังกรณี ตรีชวา(ภูมิแพ้) ดอกดาหลา(กินเป็นผักสลัด) พิลังกาสา(ตับพิการ) เป็นต้น

หลังจากเดินชมสมุนไพรจนสุขใจแล้ว นักท่องเที่ยวใจกล้าบางคนยังมีโอกาสตื่นเต้นกับการจับหนอนจุลินทรีย์ สีขาวตัวโตอ้วนพี ดิ้นยั้วเยี้ยในมือ อาจารย์สุนทรบอกว่า หนอนชนิดนี้ เป็นหนอนกำจัดมลภาวะ เกิดจากน้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ ผสมกับผลไม้รสเปรี้ยว และน้ำตาลทรายแดง สูตรนี้ไม่ใช้กากน้ำตาลเพราะว่ากากน้ำตาลมีการปนเปื้อนสารเคมีและต้องใช้เวลาหมักนานกว่าการใช้น้ำตาลทรายแดงมาก

น้ำจุลินทรีย์ที่ได้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้นานาประการ เช่น ล้างจาน ซักผ้า สระผม รดพืช ผัก ผลไม้ เป็นต้น

นักท่องเที่ยวยังสามารถซื้อผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อสุขภาพเป็นของฝากกลับบ้าน ได้แก่ สมุนไพรต่างๆ น้ำว่านครอบจักวาล น้ำจุลินทรีย์ หมอนสุขภาพ ฯลฯด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น