วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

อันตรายจากการรับประทานยาชุด

โดย สร้อยสน ปานอนันต์

นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2539 เป็นอย่างน้อยมาแล้วที่กระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์ให้คนไทยใช้ความระมัดระวังในการซื้อยาชุด เนื่องจากคนไทยจำนวนมากนิยมซื้อมารับประทานเองทุกครั้งเมื่อถึงคราวเจ็บไข้ได้ป่วย แทนที่จะไปปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งต้องเสียเวลารอคิวรักษาพยาบาลนาน

ยาชุดประกอบด้วยตัวยาหลายชนิดรวมกัน 3-5 เม็ด อันตรายจากยาชุดเกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายได้รับตัวยาซ้ำซ้อนหรือเกินขนาด  หรือใช้ยาไม่ถูกต้อง และอาจเกิดผลข้างเคียงจากสารสเตียรอยด์ เช่น ยาประเภท เพรดนิโซโลน หรือ เดกซาเมตาโซน ซึ่งเป็นต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

อาการที่เกิดจากการใช้ยาชุด ได้แก่ อาการบวมน้ำ ความดันโลหิตสูง หัวใจทำงานหนักผิดปกติ การผิดปกติทางจิตใจและระบบประสาท  กระดูกพรุน หักง่าย กระเพาะอาหารเป็นแผลมีเลือดออกภายใน และถ้ารับประทานติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลให้กระเพาะอาหารทะลุได้ 

หากรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียร นอนไม่หลับ ปวดเมื่อยตามข้อและกล้ามเนื้อ ภูมิต้านทานโรคลดดง เกิดโรคติดเชื้อและทำให้เสียชีวิตได้

ยาปฏิชีวนะบางอย่างที่ทำให้เกิดการดื้อยา อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น 
-ยาคลอแรมฟินิคอล ทำให้ให้กระดูกฝ่อและกดการทำงานของเส้นเลือด
-ยาเตตราซัยคลินทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร มีพิษต่อไต และทำให้ฟันของเด็ก/ ทารกมีสีน้ำตาลดำ
-ยาเพนนิซิลิน ทำให้เสี่ยงต่อการดื้อยาและแพ้ยา
-ยาแอสไพริน ก่อให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารหากกินขณะท้องว่าง และอาจทำให้กระเพาะเป็นแผลได้
-ยาไดไพโรน ทำให้เกิดพิษในเด็ก แม้จะทำให้พิษไข้ลดลงอย่างรวดเร็วแต่ก็อาจทำให้เด็กช็อคถึงตายได้

ยาชุดบางชนิดอาจมียากล่อมประสาท ทำให้อาจติดและหงุดหงิดฉุนเฉียวเมื่อเลิกใช้ จึงไม่ควรซื้อยาชุดจาก "หมอตี๋"  มารับประทานเองโดยพลการ เพราะจะทำให้เชื้อโรคดื้อยา และสิ้นเปลืองเงิน  หากเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยควรกินยาสามัญประจำบ้านเท่านั้น หากเจ็บป่วยรุนแรงควรพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของท่านเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น