วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

พระราชบัญญัติที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณะสุข(1)


เก็บความมาเล่า
โดย
สร้อยสน ปานอนันต์
(ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจากWikipedia สารานุกรมเสรี เป็นอย่างยิ่ง)

พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕  คุ้มครองดูแลสุขภาพ
        ๑) การควบคุมและกำจัดสิ่งปฏิกูล(อุจจาระ ปัสสาวะ สิ่งโสโครก) และมูลฝอย(ขยะ) ที่เกิดจาก ครัวเรือนหรือชุมชน อบต. หรือเทศบาลมีหน้าที่จัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นตน จะปฏิเสธไม่ทำการเก็บขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือ มูลฝอยไม่ได้ การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการเก็บขยะไม่เกินเดือนละ ๔๐ บาท ต่อขยะ ๒๐ ลิตรต่อวัน หากเรียกเก็บเงินอีกนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากพนักงานนั้นกลั่นแกล้งไม่เก็บขยะให้ ประชาชนย่อมมีสิทธิแจ้งแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ตรวจสอบดูแล
        ๒) การดูแลอาคารให้ถูกสุขลักษณะ คือต้องสะอาด ไม่สกปรก รกรุงรัง โครงสร้างไม่แตกร้าว หรือปล่อยให้คนอยู่มากเกินไป คือให้มีคนอยู่ไม่เกิน ๑ คนต่อพื้นที่ ๓ ตารางเมตร   หาก อบต.หรือเทศบาลพบว่าอาคารใดไม่ถูกสุขลักษณะ ก็อาจออกคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารนั้นปรับปรุงแก้ไขได้
        ๓) การควบคุมดูแลกิจการที่เกี่ยวกับอาหาร ได้แก่ ตลาดสด กิจการร้านอาหาร การขายของชำ หาบเร่แผงลอย ให้ถูกสุขลักษณะ  อาหาร อุปกรณ์ ภาชนะ ต้องสะอาดปลอดภัย การปรุง ประกอบ จำหน่ายปราศจากการปนเปื้อน สถานที่สะอาดเป็นระเบียบ ผู้ประกอบการต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและได้รับใบอนุญาต รวมทั้งต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเป็นรายปี เพราะการประกอบกิจการนั้น อาจมีผลกระทบหรือต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น หากผู้บริโภคพบว่าไม่ถูกสุขลักษณะ สามารถร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้
        ๔) การควบคุมดูแลกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยให้มีระบบหรือเครื่องมือ วิธีการกำจัด หรือป้องกันมลพิษ หรืออันตรายต่อสุขภาพ และไม่ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ ซึ่งผู้ประกอบการต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนประกอบกิจการ และเสียค่าธรรมเนียมตามที่ท้องถิ่นกำหนด  หากมีผู้ร้องเรียน และเจ้าพนักงานตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นการฝ่าฝืนจริง ก็อาจจะได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงาน หรืออาจได้รับโทษ ตามกฎหมาย(ข้อกำหนดของท้องถิ่น)ได้
        ๕) การกำหนดเป็นเขตห้ามเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ เช่น ช้าง ม้า โค กระบือ เป็นต้น หรือห้ามเลี้ยงสัตว์เกินกว่าจำนวนที่กำหนด หรือให้เลี้ยงได้โดยต้องปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อการป้องกันปัญหาด้าน สุขลักษณะ และไม่ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ การกำหนดเขตควบคุมดังกล่าว จะต้องมีเหตุผลตามข้อเท็จจริงข้างต้น หากไม่มีเหตุผล ประชาชนย่อมมีสิทธิฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนได้
        ๖) การกำหนดเขตจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ เพื่อให้มีความเป็นระเบียบ ไม่เป็นปัญหาต่อชุมชน ประกาศนี้จะต้องปิดที่ที่ทำการของราชการส่วนท้องถิ่น และปิดป้ายห้ามตรงบริเวณดังกล่าวด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ แม้จะมีใบอนุญาต ยังต้องไม่ละเมิดเขตห้ามด้วย
        ๗) การควบคุมดูแลและการแก้ไขปัญหาเหตุรำคาญ ซึ่งได้แก่การกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น แสง เสียง รังสี ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่นละออง เขม่า เถ้า หรือ กรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ  ประชาชนผู้เดือดร้อนย่อมมีสิทธิที่จะ ร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น เจ้าพนักงานสาธารณสุข หรือผู้ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น